เกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์ CU Nan Model บ้านห้วยส้ม อ.นาน้อย จ.น่าน ปรับเปลี่ยนจากการปลูกอ้อยเคมีสู่วิถีอินทรีย์ หยุดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ไม่เผาเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยว และนำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลอ้อยอินทรีย์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้เสริม เลี้ยงชีพ

กลุ่มเกษตรกร 3 รายที่ปลูกอ้อยได้สมัครเข้าร่วมกลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอส เมื่อเดือนมีนาคม 2560 และเข้าสู่กระบวนการรับรองพื้นที่เพาะปลูกจนได้รับการรับรองเป็นพื้นที่การผลิตแบบอินทรีย์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 เมื่อเข้าสู่ระบบการรับรองทำให้พ่อๆ สมาชิกกลุ่มมีการตื่นตัวและปรับตัว รวมถึงปรับปรุงพื้นที่การทำเกษตรของตนเองให้สอดคล้องกับมาตรฐานของกลุ่ม รายได้เฉลี่ยต่อคนจากการทำน้ำตาลอ้อยในช่วงฤดูปิดหน้ายางอยู่ที่ 20,000 บาท

  

น้ำตาลอ้อยอินทรีย์จากภูมิปัญญา หวาน หอม มีเอกลักษณ์ หลังจากปลูกอ้อยได้ 8 เดือนก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะตัดอ้อยกันแต่เช้า นำมาล้างทำความสะอาด และคั้นเอาน้ำอ้อย และกรองแยกเศษอ้อยออก นำมาตั้งเตาเคี่ยวแบบดั้งเดิมบนเตาถ่าน นาน 6 ชั่วโมง ไม่ใส่สารเติมแต่ง จนน้ำอ้อยเปลี่ยนสี เข้มขึ้น เป็นน้ำตาลอ้อยที่คงความหอม หวานธรรมชาติ มีเอกลักษณ์ คงคุณค่าสารอาหาร หยอดลงบนแม่พิมพ์ที่ทำจากไม้ไผ่ ทิ้งไว้จนแห้งและห่อด้วยใบอ้อยแห้ง ช่วยระบายความชื้น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ชวนทาน ใช้ชงกาแฟ เครื่องดื่มหรือทานเล่นได้อร่อย

 

ปัจจุบันรูปแบบการทำน้ำตาลอ้อยของกลุ่มได้พัฒนาขึ้นจากเดิมได้ทำเป็นน้ำตาลอ้อยแว่น ได้พัฒนาและปรับปรุงมาเป็นน้ำตาลอ้อยผงที่สะดวกต่อการใช้งานและเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น

บ้านห้วยหาด บ้านหลักลาย อ.ปัว จ.น่าน เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ บนดอยชายขอบ อำเภอปัวรอยต่อ อ.บ่อเกลือ ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ ไม่เผาป่าไม่ได้ทำข้าวโพดเคมีมา 7 ปีแล้ว น้องเบนซ์ บัณฑิตจบใหม่วิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.พะเยา มุ่งมั่นที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ในกระบวนการ Lemonfarm Organic PGS โดยมุ่งหวังที่จะเป็นตัวอย่างจุดประกายให้สมาชิกในชุมชนเพื่อสร้างชุมชนที่ยั่งยืน

 

“ในอดีตหมู่บ้านห้วยหาด บ้านหลักลายก็เป็นแหล่งทำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนดอยเหมือนที่อื่นๆ จนปี 2554 ชุมชนเราได้คุยกันว่าเลิกปลูกข้าวโพดเคมีและห้ามนำสารเคมีมาในหมู่บ้าน ด้วยสาเหตุที่ว่า การปลูกข้าวโพดเคมีที่ทำมาต่อเนื่องหลายสิบปี ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านมีค่าสารเคมีตกค้างในเลือดระดับ 4 (อันตราย) แม่น้ำและอาหารในชุมชนมีสารเคมีตกค้าง ในป่าไม่มีอาหารไม่มีสัตว์ เก้ง หมูป่า กระรอก ปลาในแม่น้ำก็หายไป และเหตุผลสำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองจึงได้รู้ว่าการทำข้าวโพดแต่ละปีเมื่อหักค่าปุ๋ยค่ายาแล้วมีเงินเหลือเพียง 200 บาท”

หลังจากชุมชนพร้อมใจกัน “หักดิบ” เลิกปลูกข้าวโพดเคมี ชุมชนพยายามหาทางที่จะอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน เราคืนป่าสามพันกว่าไร่ให้เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแลกันเอง เราไม่เผา ไม่บุกรุกป่า มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงวัว ไก่ไข่ แต่ก็มีรายได้บ้างแต่ไม่มากนัก

  

ปัจจุบัน เบนซ์ และเพื่อนๆ อีก 5 คน ได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์โดยเป็นสมาชิกกลุ่ม เกษตอินทรีย์ พีจีเอส น่าน โดยการสนับสนุนของเลมอนฟาร์ม ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มปรับพื้นที่ทำแปลงพืชผักอินทรีย์ ซึ่งจะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน 1 ปี

ในระหว่างนี้ชุมชนได้นำต้นก๋งที่เกิดขึ้นในป่ารอบๆ หมู่บ้านมาใช้ประโยชน์ทำเป็นไม้กวาด เพื่อเป็นรายได้เสริม เพื่อสืบทอดผืนดินที่สะอาดจากสารเคมี ไม่ต้องยอมจำนนเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด และสร้างควันพิษ ซึ่งเป็นปัญหาติดตามมา