EAT RIGTH PROJECT
เลมอนฟาร์มมีโอกาสพิเศษได้พูดคุยกับ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยท่านได้ชี้ให้เห็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของคนไทย สสส.ได้มีการรณรงค์ในหลายๆ โครงการที่เน้นให้ประชาชนหันมารับประทานผักผลไม้ให้ได้ตามเกณฑ์ 400 กรัม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นปริมาณที่ร่างกายต้องการสารอาหารต่อวัน ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย นอกจากจะเป็นปัญหาเรื่องผักผลไม้ที่คนไทยรับประทานต่ำกว่าเกณฑ์แล้ว ความปลอดภัย และสารพิษตกค้างในอาหารก็ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
คนไทยเสี่ยงป่วยเพราะกินอาหารมากเกินและกินผักผลไม้ต่ำกว่ามาตรฐาน
“บทบาทของ สสส. คือเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ หนึ่งในปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญว่าจะดีไม่ดีคืออาหาร ถึงแม้จะมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายปัจจัยมาก เช่น บุหรี่ เหล้า การออกกำลังกาย อารมณ์ต่างๆ แต่หนึ่งในปัจจัยหลักคืออาหารแน่นอน ในเรื่องอาหารก็มีอยู่ 2 มิติใหญ่ที่จะบอกได้ว่าอาหารมีผลต่อสุขภาพยังไง มิติแรกคือในเชิงโภชนาการ คือการรับประทานสารอาหารต่างๆ ที่ครบถ้วน เหมาะสม อีกมิติคือเรื่องความปลอดภัย เพราะอาหารที่บริโภคเข้าร่างกาย นอกจากเป็นประโยชน์ด้านโภชนาการแล้ว มันยังมีสารพิษที่ปนมากับอาหารด้วย
สสส.ทำงานทั้งสองมิติ ในด้านโภชนาการในภาพรวมเราอาจจะพ้นยุคของทุพโภชนาการเชิงขาดสารอาหารอย่างรุนแรงมาแล้ว แต่ปัญหาไม่ได้หมดไป ภาวะโภชนาการล้นเกินกลับเป็นปัญหามากกว่า เพราะรับประทานรสหวานมันเค็ม แป้ง น้ำตาลสูง แล้วปัญหาที่ควบคู่กับโภชนาการไทยที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งเลยคือ การกินผักผลไม้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แล้วก็มีแนวโน้มจะต่ำลงดูได้จากวิถีชีวิตของอาหารไทยดั้งเดิม ผักผลไม้ปลาข้าวนี่จะไปด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้เรานิยมอาหารทางตะวันตกมากขึ้น แป้ง น้ำตาล รสชาติหวานมันเค็มก็สูงขึ้น การรับประทานผลไม้มีแนวโน้มลดลง องค์การอนามัยโลกมีเกณฑ์แนะนำปริมาณการบริโภคผักผลไม้ที่เหมาะสมคือ 4 ขีด หรือ 400 กรัมต่อวัน/คน แต่เมื่อมาดูตัวเลขผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขล่าสุดซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดของบ้านเรา พบว่าอัตราการบริโภคผักผลไม้ในวัยผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไปลดลงจาก 5 ปีก่อนนี้ คือจากเดิมปี 2546 – 2547 คนไทยรับประทานผักผลไม้เพียงพออยู่ที่ประมาณ 21.6% ในปี 2551-2552 เหลือเพียง 17.7%