กฤต อินต๊ะนาม (ลุงทัย)

พลิกผืนดินจากไร่ข้าวโพดเคมี มาสู่การทำพืชอินทรีย์หลากหลายชนิด
เกษตรกรต้นแบบ Lemon Farm Organic PGS น่าน จ.น่าน

ลุงทัยเคยทำไร่ข้าวโพดเคมีบนภูเขา 53 ไร่ แต่ไม่เคยมีกำไรแถมยังมีหนี้สินจากการซื้อปุ๋ย ยาเคมีมาอย่างต่อเนื่อง การใช้สารเคมีอย่างหนักทำให้สภาพพื้นที่แปลงลุงทัย กลายเป็นดินไร้ชีวิต แข็งแน่น ไม่มีหญ้าขึ้นสักเส้น ลุงทัยกลับมาทบทวนตัวเอง ตั้งใจอยากหนีให้พ้นจากวงจรเคมี

เลมอนฟาร์มและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชักชวนให้ลุงทัยเลิกปลูกข้าวโพดเคมี ทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ด้วยการเริ่มอบรมกระบวนการ Lemon Farm Organic PGS และพาลุงทัยไปเรียนกับ มูลนิธิข้าวขวัญ อ.เดชา ที่ จ.สุพรรณบุรี จนลุงทัยกลับมาไฟแรง ทำจริงจังอยู่กับสวนทั้งวันผสมน้ำหมักใช้ดินจากป่า ปลูกพืชผักหลายชนิด เอาที่ดินคืนป่าไม้ และปรับที่ดินทำกินเหลือเพียง 2 ไร่ เริ่มต้นนับ 1 ด้วยการปลูกแตงโม บนที่ๆ เคยทำข้าวโพด แม้ว่าแตงโมที่ปลูก 400 ต้น ให้ผลผลิตได้กินเพียง 1 ลูก แต่ก็ไม่ย่อท้อ สู้ไม่ถอยนำมะนอย (บวบเล็กพันธุ์พื้นบ้าน) ลงปลูก จนดินเริ่มฟื้นตัว พืชเติบโตให้ผลผลิต ที่ดิน 2 ไร่ของลุงทัย จากดินที่เคยใช้สารเคมีเข้มข้นตลอด 20 ปีจนดินแข็งแน่น ไม่มีหญ้าขึ้นสักเส้น เมื่อเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เพียง 11 เดือน (ปี 2561) สามารถปลูกมะนอย (บวบพื้นเมือง) ฟักทอง บัตเตอร์นัท และสตรอเบอร์รี่อินทรีย์ ไม่เหลือเค้าของสภาพดินเดิมเมื่อปี 2560

ปัจจุบันลุงทัย มีสุขภาพแข็งแรง มีรายได้ถึง 4,000 บาท/สัปดาห์ เพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าไปโรงเรียนลูก อาหารไม่ต้องซื้อ พึ่งพาตนเองได้

ขึ้นปีที่ 3 ของการทำเกษตรอินทรีย์ ลุงทัยขยายแปลงอินทรีย์เต็มพื้นที่ เพิ่มการปลูกผักอินทรีย์ มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว และได้ทดลองปลูกพืชหัวอย่างแครอท บีทรูท กะหล่ำปลี ด้วยความเข้มแข็งที่จะให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ในพื้นที่เล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาข้าวโพดนี้

บัตเตอร์นัทออร์แกนิค

พืชตระกูลฟักทอง ลักษณะคล้ายน้ำเต้า เนื้อหวาน มัน กลิ่นหอมคล้ายเนยเมื่อนำไปประกอบอาหาร อุดมด้วยคุณค่า วิตามิน A ช่วยบำรุงดวงตาให้สดใส มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์สูง ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ และยังช่วยให้อิ่มท้องสำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก