เพราะรักจึงผลักดันให้ผักนำ เลมอนฟาร์ม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภาคีรณรงค์คนไทยใส่ใจการบริโภคผักผลไม้

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ลาน Park@Siam สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าวโครงการ“ผลักดันให้ผักนำ” รณรงค์ให้คนไทยใส่ใจการบริโภคผักผลไม้เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคผักผลไม้วันละ 400 กรัม และแนะนำวิธีการเลือกทานผักผลไม้ตามฤดูกาล ลดเสี่ยงสารเคมี โดย เลมอนฟาร์ม หนึ่งในภาคีเครือข่าย ได้ร่วมรณรงค์ “ผลักดันให้ผักนำ” เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้กินผักและผลไม้อินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ มีบริการผักอินทรีย์ ผักปลอดภัยจากสารพิษ จากชุมชนผู้ผลิตเกษตรกรรายย่อย ตลอดปีที่ร้านเลมอนฟาร์มทุกสาขา

“ผักผลไม้เป็นหนึ่งในอาหารหลัก 5 หมู่ที่มนุษย์จะขาดไม่ได้ เหตุผลนี้องค์การอนามัยโลกออกมาฟันธงว่า เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด มะเร็งในลำไส้ใหญ่ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เป็นเพราะมนุษย์กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ข้อดีของการกินผัก คือ มีวิตามินและแร่ธาตุ เพิ่มภูมิคุ้มกัน เพิ่มภูมิต้านทาน ถ้าเกิดการระบาดไวรัสโคโลน่า ซาร์ เมอร์ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ พร้อมกัน คนสุดท้ายที่จะติดโรคนี้และเหลือคนสุดท้าย คือ คนที่กินผักผลไม้ นอกจากนี้ในผักและผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ พฤกษาเคมี (ไฟโตนิวเทรียนท์) ช่วยต้านมะเร็ง มีใยอาหารช่วยกวาดสิ่งหมักหมมในลำไส้”

ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

“จากผลการสำรวจในปี 2561 พบว่า คนไทยกินผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาก และคนไทยที่กินผักและผลไม้เพียงพอตามเกณฑ์ โดยภาพรวมจาก 100 คน มีเพียง 31 คน โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็นกลุ่มอายุ 6-14 ปี มีเพียง 26 คน และกลุ่มผู้ใหญ่ 35 คน โดยกลุ่มคนโสดเป็นกลุ่มที่กินไม่เพียงพอ สูงถึงร้อยละ 74.5 เมื่อศึกษาลงไปถึงอาชีพ พบว่าคนทำงานบริษัทมีสูงถึงร้อยละ 76.2”

ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

“เมืองไทยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มีผักผลไม้ให้ทานทั้งปีแต่คนไทยยังบริโภคผักผลไม้ไม่ตามเกณฑ์ โครงการผลักดันให้ผักนำ จึงเป็นโครงการที่ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคผักผลไม้มากขึ้น ให้ทุกๆมื้อที่เราทาน ให้นึกถึงผักก่อน ยกตัวอย่างใน 1 จานที่เรากินในแต่ละมื้อแบ่งให้มีผักผลไม้สักครึ่งหนึ่งของจานใช้สูตร 2:1:1 รวมถึงการกินผักผลไม้ตามฤดูกาลจะช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ทำให้โอกาสที่เราจะได้รับสารเคมีในร่างกายลดลง”

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.

<< Back