ลุงทัย : กฤตอินต๊ะนาม กับแปลงผักอินทรีย์ในหุบเขาหัวโล้น และไร่ข้าวโพด (ฟักทองบัตเตอร์นัท, ฟักทองญี่ปุ่น)

ลุงทัยเคยทำไร่ข้าวโพดเคมีบนภูเขา 53 ไร่ มีหนี้สินจากการซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และการใช้สารเคมีอย่างหนัก ทำให้สภาพพื้นที่แปลงลุงทัย กลายเป็นดินไร้ชีวิต แข็งแน่น และเห็นเพื่อนๆ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการใช้สารเคมี ทำให้ตั้งใจอยากหนีให้พ้นจากวงจรเคมี จึงตัดสินใจเลิกปลูกข้าวโพดเคมี คืนที่ดินกับกรมป่าไม้และปรับที่ดินทำกินเหลือเพียง 2 ไร่ ทำพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพียง 1 ปี ผืนดินที่เคยแห้งแข็งกระด้างก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ปัจจุบันลุงทัยสามารถปลดหนี้สะสมที่เคยทำเคมีได้บางส่วน ไม่ก่อหนี้เพิ่ม มีรายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตหลักเป็นฟักทองญี่ปุ่น บัตเตอร์นัท และยังมีพืชพื้นบ้าน เช่นมะนอย มะเขือยาว ที่สามารถเป็นแหล่งอาหารให้คนในครอบครัวและคนในชุมชน ที่ไม่ต้องไปซื้อจากตลาดข้างนอก สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับลุงทัยได้อย่างยั่งยืน

พี่แอ๋ว : นิบภา ธัญญมงคลทรัพย์ (สลัด,มะเขือเทศ,ข้าวโพดทับทิมสยาม)

วิกฤติขาดทุนจากการขายลำไยเคมี พี่แอ๋วและพี่เชาว์ จึงพยายามหาทางออกเพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืน โดยเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ ทดลองปลูกผักอินทรีย์ที่หลากหลายในพื้นที่4 ไร่ ปัจจุบันพี่แอ๋วคือหนึ่งในสมาชิกเกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบของกลุ่ม PGS น่าน ที่มากประสบการณ์ สามารถทำการผลิตพืชผักอินทรีย์ในฤดูหนาวที่ผ่านมา ได้มากกว่า 15 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักสลัดนานาชนิด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดทับทิมสยาม ข้าวโพดข้าวเหนียว มะเขือเทศซึ่งให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และเป็นอินทรีย์แบบ 100 %

พี่มิค : ธนนท์ ณ น่าน (แครอท,หัวไชเท้า,บีทรูท)

คนรุ่นใหม่ที่หนีความวุ่นวายในเมืองกรุงกลับบ้าน โดยเริ่มต้นปลูกข้าวโพดเคมี เช่นเดียวกับชาวบ้านในชุมชน มิกได้ประสบการณ์หลังจากขายผลผลิตเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลว่า รายได้ที่ได้รับนั้นเมื่อหักค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาเคมีต่างๆ เหลือแค่ 2,000 บาทเป็นค่าแรงทั้งปี ในปี 2559 จึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างมุ่งมั่น เรียนรู้กระบวนการกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส น่านและได้เรียนรู้ พัฒนาเทคนิคการเกษตรและยังแบ่งปันความรู้ให้สมาชิกในกลุ่ม โดยเฉพาะการผลิตพืชหัวให้ได้คุณภาพ อย่าง หอมหัวใหญ่ รสชาติอร่อย แครอทไทย หัวไชเท้าขาว หัวไชเท้าญี่ปุ่น บีทรูท ซึ่งสามารถสร้างรายได้หลักในช่วงฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนและฤดูฝนที่ไม่สามารถปลูกพืชหัวได้ ก็จะสลับปลูกพืชที่ให้ผลแทน เช่น ฟักทองญี่ปุ่นบัตเตอร์นัท เพื่อเป็นการหมุนเวียนพืชและบำรุงพื้นที่ปลูก ลดปัญหาโรคและแมลงที่เกิดซ้ำได้อีกด้วย

<<BACK