ลางสาดอินทรีย์และผืนป่าวนเกษตร มรดกเพื่อลูกหลาน จ.อุตรดิตถ์ ฤดูกาล (เดือน ก.ย.-ต.ค.)

การรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกร Lemon Farm Organic PGS อุตรดิตถ์ ร่วมกับคณะผู้วิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และเลมอนฟาร์ม เพื่อร่วมกันปกป้อง “ลางสาด” ผลไม้ท้องถิ่น เอกลักษณ์ของ จ.อุตรดิตถ์ ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มาหลายร้อยปี ซึ่งปัจจุบันต้นลางสาดกำลังจะถูกตัดโค่น เพื่อเปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์และใช้สารเคมีบนที่สูง “ลางสาด สำหรับความหมายของคนในพื้นที่ คือตัวแทนเป็นการฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูอาหาร เพื่อความมั่นคง ทางอาหาร ในป่ามีกล้วย มีผลไม้ มีพืชผัก ส้มโอ สับปะรด ทุเรียน ลองกอง ฯลฯ ใน 12 เดือนชาวบ้านได้อาหาร จากป่าวนเกษตรตลอดทั้งปี การรักษาระบบป่าวนเกษตรซึ่งมีลางสาดเป็นพืชที่สำคัญในระบบ จะช่วยรักษาระบบ อาหารที่ยั่งยืนและมั่นคงให้ชุมชน เรามีภูมิปัญญามาเป็นร้อยปี กลุ่มเราก็อยากจะรักษาป่าวนเกษตรอินทรีย์นี้ให้กับลูกหลาน” สุทธิรักษ์ ปาลาด อดีตนักวิชาการเกษตร ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอส อุตรดิตถ์ กล่าว

ปัจจุบันกลุ่มวนเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส อุตรดิตถ์ มีผลผลิตหลักเป็นลางสาด ลองกอง ทุเรียน มะยงชิด มะปรางหวาน ซึ่งเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มและยังคงทำงานรักษาป่าวนเกษตร ไม่ให้มีการตัดต้นไม้ทำลาย เป็นการรักษาพืชพันธุ์ท้องถิ่น ประจำจังหวัด อุตรดิตถ์ ให้คงอยู่อีกด้วย

<<BACK