กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน จ. สุพรรณบุรี (#7201)

ชื่อกลุ่ม :กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน 

มาตรฐานอินทรีย์ : PGS

Location : อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ข้อมูลทั่วไป : พื้นที่ที่เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ  อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำสูง ซึ่งสามารถทำนาปลูกข้าวได้ถึงปีละ 3 รอบ เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน ได้ร่วมกันสืบสานวิถีชีวิตการทำนาของชาวนาสมัยก่อน โดยจะรักษาประเพณีและวัฒนธรรมชาวนาดั้งเดิม และพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากตนเองให้มากที่สุด ฉะนั้นแล้วการทำนาที่นี่จึงมีความปราณีตสูง ใส่ใจดูแลต้นข้าวเป็นอย่างดีและมีคุณธรรม  นอกจากข้าว ยังมีผักและผลไม้ตามฤดูกาลอีกหลากหลายที่ผลิตบนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ทำให้ทุ่งกลายเป็นทองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารมีกิน แบ่งปัน อย่างยั่งยืน

  

ผลผลิต :  คะน้า ผักกาดขาวปลี ผักโขม ข้าวไรซ์เบอร์รี่

ประสบปัญหาหนี้สินครัวเรือน สุขภาพย่ำแย่ ชาวนาในพื้นที่ อ.อู่ทองประสบกับปัญหาต้นทุนที่สูงจากการทำนาเคมีที่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากร้านขายเคมีภัณฑ์ ชีวิตถูกผูกขาดทุกด้านต้องพึ่งพาภายนอกทั้งหมด และสุขภาพแย่ลงจากการใช้สารเคมีอย่างหนัก

พ.ศ.2548

เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ พ่อปัญญา ใคร่ครวญ (ผู้นำกลุ่ม)จึงชวนเพื่อนชาวนาที่ประสบปัญหาเหมือนกัน จัดตั้ง”กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี” เปลี่ยนแนวคิดจากการทำนาเคมีเพื่อหวังร่ำรวย สู่ชาวนาอินทรีย์ที่เกื้อกูลธรรมชาติ สามารถพึ่งตนเองได้พออยู่พอกินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

วิถีอินทรีย์ วิถีการเรียนรู้ เมื่อได้เข้ามาทำเกษตรอินทรีย์ มีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง มองเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เข้าใจธรรมชาติ จากที่เคยทำนาปีละ 3 ครั้ง ลดมาทำเพียงปีละครั้ง

พ.ศ.2558

เข้าร่วม Lemon Farm Organic PGS สมาชิกทั้งหมด 40 ราย พื้นที่ทั้งหมด 550 ไร่ ผลผลิตหลัก ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ข้าวทับทิมชุมแพ

สมาชิกตัวอย่างในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง พ่อมานิตย์ แทนเพชร (สมาชิกกลุ่ม) จากชาวนา สู่ชาวสวนนักวิจัยผัก จากเคยทำนาต่อสู้กับน้ำท่วมและภัยแล้งจนได้แรงบันดาลใจจากพ่อปัญญาและพบกับเลมอนฟาร์ม ลงทุนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมด จากเคยทำนา 17 ไร่ มาปลูกผัก 2 ไร่ เหลือที่นาปัจจุบัน 5 ไร่ ทำไว้แค่พอกิน ที่ส่วนใหญ่กลายเป็นบ่อน้ำเพื่อเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด

กลุ่มที่เข้มแข็ง กลุ่มเราก็จะมีการพูดคุยกันอยู่ทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง มีการแลกเปลี่ยนคลายความวิตกกังวล และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เปิดใจ เปิดผลที่ได้รับไม่ปิดบัง ทำให้เกิดความมีส่วนร่วม ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

สมาชิกเกษตรกรรุ่นใหม่ พี่งามตา เกษตรกรน้องใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับปัญหาชาวนาเป็นหนี้  จึงตัดสินใจลงมือทำเอง เพื่อเปลี่ยนสังคมการเกษตรและผลิตอาหารที่ดีไว้ทานเอง จนหลงใหลในวิถีอินทรีย์ ตัดสินใจเปลี่ยนผืนนาของตนให้เป็นพื้นที่เกษตรผสมผสานเหมือนของพ่อมานิตย์ บนพื้นที่ 8 ไร่ตามฝัน

แพ็คผัก แลกกำลังใจ กลุ่มที่มาร่วมกันแพ็คผัก เป็นเวทีที่ทุกคนได้มาเจอกัน ให้กำลังใจให้แรงบันดาลใจกันและกัน เป็นที่ปรึกษาช่วยเหลือกัน ทำให้ทุกคนยังอยู่และอยากเดินต่อ มีแรงมีเป้าหมาย มีพลังที่จะต่อสู้อยากให้ทุ่งทองยั่งยืน

ปัจจุบัน

เป็นศูนย์การเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร ของอำเภออู่ทอง แหล่งเรียนรู้การทำนาอินทรีย์และการทำปุ๋ยหมัก
ผลผลิตของกลุ่ม ได้แก่ ผัก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกข43 และข้าวทับทิมชุมแพ

ขนมต้มโบราณ

<<Back