ลางสาดเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.อุตรดิตถ์ จนได้ชื่อว่าเมืองลางสาดหวาน คนอุตรดิตถ์มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับลางสาดมาหลายร้อยปี แต่ปัญหาก็คือปัจจุบันต้นลางสาดกำลังจะถูกตัดให้หมดไป ถ้าเราไม่ทำอะไร เพราะขายไม่ได้ราคาและกระแสแทรกแซงการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียน

“กลุ่มของเราได้รวมตัวกัน ร่วมกับคณะผู้วิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และเลมอนฟาร์ม ทำโครงการให้ลางสาดกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เราชวนกันมาสร้างมูลค่าให้กับต้นลางสาด ให้ลางสาดอยู่ได้บนฐานของเศรษฐกิจพร้อมไปกับคุณค่าทางจิตใจ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ลางสาดอยู่ได้อย่างมั่นคงไม่ใช่เพียงแค่การอนุรักษ์ ซึ่งอาจจะอยู่ได้เพียงแค่ระยะหนึ่ง” คุณสุทธิรัตน์ ปาลาศ เกษตรกรผู้ประสานงานกลุ่ม Lemonfarm Organic PGS อุตรดิตถ์ กล่าว


 

ในระบบป่าวนเกษตร เราสามารถแบ่งพืชออกเป็นชั้นใหญ่ๆได้ 3 ชั้น ชั้นบนสุดก็คือไม้ใหญ่ๆ ซึ่งจะให้ร่มเงาและเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยธรรมชาติ จากซากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกัน ผ่านไป 1 ปี ได้ย่อยสลายกลายเป็นเนื้อดินไปแล้ว และยิ่งสะสมอยู่ไปนานๆ หลายๆ ปี ก็จะกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์โดยไม่ต้องอาศัยปุ๋ยเคมีชั้นรองลงมาจะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ลางสาด ลองกอง ทุเรียน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ส่วนชั้นล่างสุดก็จะเป็นพืชอาหาร เช่น พวกพริกขี้หนู ผักกูด สับปะรด พืชคลุมดินต่างๆ ซึ่งเป็นอาหาร

ระบบรากของต้นลางสาด และไม้ป่าช่วยรักษาหน้าดินป้องกันปัญหาดินถล่ม

  รากของต้นลางสาดจะกระจายอยู่จำนวนมากในระดับ 15 ซม.ใต้ผิวดิน ซึ่งจะช่วยยึดหน้าดินเวลาฝนตกแทนที่เม็ดฝนจะกระแทกโดนดินโดยตรงก็จะมีเศษซากพืชและระบบร่างแหของลางสาดช่วยซับไว้ทำให้เกิดการชะล้างหน้าดินน้อย และเมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องดินอุ้มน้ำไว้มากๆ รากของลางสาดก็จะช่วยยึดหน้าดินไว้

  แต่ถ้าวันหนึ่งมันถูกเปลี่ยนเป็นทุเรียนทั้งหมดเพราะราคาดีแล้วตัดต้นลางสาดและไม้ป่าทิ้งระบบรากที่ช่วยยึดหน้าดินและรากในเชิงลึกก็จะหายไป โอกาสที่จะเกิดดินสไลด์ก็จะมาก เหมือนบ้านไม่มีเสาเข็มก็จะถล่มพังลงได้ง่าย