Lemon Farm Organic PGS
โมเดลวนเกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาป่าสร้างอาหารอินทรีย์ + ความมั่นคงชุมชน

   ระบบการทำสวนวนเกษตร คือการทำสวนผลไม้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาของคนอุตรดิตถ์มาหลายร้อยปี กลุ่มวนเกษตรอินทรีย์พีจีเอสเลมอนฟาร์มอุตรดิตถ์ ได้นำหลักการเกษตรอินทรีย์มาใช้ในพื้นที่วนเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้การทำเกษตรที่อาศัยความเกื้อกูลกันของระบบนิเวศธรรมชาติ ช่วยเพิ่มมูลค่า คุณค่า และคุณภาพของผลผลิต และที่สำคัญที่สุดคือป่าวนเกษตรอินทรีย์เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ช่วยปกป้องหน้าดิน เก็บรักษาความชื้น และรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

   ในปี 2560 เลมอนฟาร์ม ร่วมกับ กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์อุตรดิตถ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และนักพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันทำงานโดยใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ PGS พัฒนาความสามารถของเกษตรกร ฟื้นฟูและรักษาป่าวนเกษตร อนุรักษ์ลางสาดไม้ดั้งเดิมควบคู่กับการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ภายใต้ชื่อโครงการจัดการระบบการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างสุขภาพดีแก่ผู้บริโภค เกษตรกร ดำเนินงานโดยเลมอนฟาร์ม ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีพื้นที่การดำเนินงานใน จ.อุตรดิตถ์ 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มวนเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส เลมอนฟาร์ม อุตรดิตถ์ มีสมาชิกจาก 2 อำเภอ คือ อ.ลับแล และอำเภอเมือง มีสมาชิก 15 ครอบครัว พื้นที่ 392.5 ไร่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ จำนวน 6 ครอบครัว พื้นที่ 48.5 ไร่

ลางสาดอินทรีย์ จุดเริ่มต้นของการรักษาป่าวนเกษตร

ผู้ใหญ่สมหวัง เอี่ยมงิ้วงาม ประธานกลุ่มเลมอนฟาร์ม พีจีเอส อุตรดิตถ์ เล่าที่มาของการรวมกลุ่มทำวนเกษตรอินทรีย์ว่า “เมื่อก่อนมีความบริสุทธิ์ของผืนดิน ผืนป่า สายน้ำ ตอนผมเป็นเด็กได้สัมผัสกินน้ำในลำห้วยไม่ต้องสะพายขวดพลาสติกไป ไปถึงก็ขุดเอาข้างนา กินได้อาบได้ น้ำในห้วยมีช่วงแล้งไม่ถึงเดือนมีปูปลาพอหากินได้ แต่ตอนนี้ภาพนั้นหายไปไหน ผมก็อยากจะเอาวนเกษตรไปเชื่อมฟื้นพื้นที่ป่า ฟื้นที่ทำกินของเราให้มันมีความบริสุทธิ์เรียกชีวิตกลับคืนมา คนไปสัมผัสไปบริโภคไปอยู่ได้ ไม่เป็นอันตราย แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ผมก็ยินดีอยากให้ลูกหลานได้สัมผัสคุณค่าตรงนี้ในอนาคต ถ้าเขาจะกลับมาดูแลป่า ดูแลแผ่นดินเกิดในหมู่บ้านของเขา ผมก็หวังไว้อย่างนั้น”

สุทธิรักษ์ ปาลาด อดีตนักวิชาการเกษตร ผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอส อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เราไม่ได้มองลางสาดเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่เรามองว่าลางสาดเป็นการฟื้นฟูป่าฟื้นฟูอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ในป่ามีกล้วยมีผลไม้มีพืชผักเยอะแยะ ส้มโอ สับปะรด ทุเรียน ลองกอง ฯลฯ ใน 12 เดือนเราได้อาหารจากวนเกษตรตลอดทั้งปี การรักษาระบบป่าวนเกษตรซึ่งมีลางสาดเป็นพืชที่สำคัญในระบบ จะช่วยรักษาระบบอาหารที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับชุมชน เรามีภูมิปัญญามาเป็นร้อยปี กลุ่มเราก็อยากจะรักษาป่าวนเกษตรอินทรีย์นี้ให้กับลูกหลาน

คุณค่าของป่าวนเกษตร VS การทำสวนทุเรียนเชิงเดี่ยว

งานวิจัยของ ดร.ชาติทะนง โพดง และคณะ (2561) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยการสนับสนุนของ สกว. ระบุว่า การทำสวนวนเกษตรเปรียบเทียบกับการทำสวนเกษตรเชิงเดี่ยว มีคุณค่าและผลตอบแทนทางสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันมาก

การสะสมธาตุอาหารในดินเฉลี่ยที่ความลึก 60 เซนติเมตรของแปลงระบบวนเกษตร มีค่าเฉลี่ยการสะสมของ Total Nitrogen, Available Phos-phorus, Potassium, Organic Matter, Organic Carbon มีค่าสูงกว่าแปลงระบบเกษตรเชิงพาณิชย์ หรือระบบเกษตรเชิงเดี่ยว 3.5 เท่า ดังแสดงในตารางที่ 1

ในระบบวนเกษตร มีค่าการสะสมคาร์บอนมากกว่าในระบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่ปลูกทุเรียนเชิงเดี่ยว คิดเป็น 2,034.60 เท่า ดังแสดงในตารางที่ 2

การประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อมโดยรวมในระบบวนเกษตร มีค่าสูงกว่าระบบเกษตรเชิงพาณิชย์ คิดเป็น 2,352.64 เท่า ดังตารางที่ 3

เกษตรอินทรีย์แลกสิทธิ์ที่ทำกิน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์
เมื่อเพื่อนช่วยเพื่อน เปลี่ยนไร่ข้าวโพดเคมี มาเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หลังจากเริ่มงานกลุ่มเกษตรอินทรีย์เลมอนฟาร์มอุตรดิตถ์ ต่อมากลุ่มได้ขยายผลไปพื้นที่ อ.น้ำปาด ซึ่งอยู่ไกลออกไปอีก 100 กว่ากิโลเมตร ที่หมู่บ้านเพีย อ.น้ำปาด ชาวบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ป่ามานานกว่า 200 ปี มีอาชีพปลูกข้าวโพดเคมี มีฐานะยากจน กล้วยน้ำว้าหวีละ 1-2 บาทก็ยังไม่มีใครซื้อ ในปี 2541 ชาวบ้านถูกประกาศพื้นที่อุทยานทับที่ทำกิน และต่อมาในปี 2550 ก็ถูกทางการไล่ลงจากพื้นที่อีกรอบ ชาวบ้าน เกษตรกรอยู่ในสถานะยากลำบากหลังชนฝา เป็นที่มาให้กลุ่มวนเกษตรอินทรีย์อุตรดิตถ์ ร่วมกับเลมอนฟาร์มขยายงานเกษตรอินทรีย์ไปที่บ้านเพีย อ.น้ำปาด ในพื้นที่อุทยานสักใหญ่

คุณสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์   เลมอนฟาร์ม

“ปี 2560 เลมอนฟาร์ม ร่วมกับคุณสำเริง เกตุนิล เริ่มลงไปทำโครงการเกษตรอินทรีย์ที่น้ำปาด เราไปขออนุญาตท่านนายอำเภอเพื่อทำโครงการฯ ในปี 61 ชาวบ้านเริ่มลงถั่วและผัก ช่วยให้เขาขายผลผลิตในพื้นที่ได้ ไปขายที่ตลาดในอำเภอ มีข้าราชการที่รู้ว่าเขาทำเกษตรอินทรีย์เป็นลูกค้าประจำ

ต้นเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา อุทยานสักใหญ่อนุญาตให้ชาวบ้านอยู่ต่อได้ 20 ปี โดยมีข้อแม้ห้ามใช้เคมีปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราจึงคิดจะทำโมเดลน้ำปาดทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่น และช่วยป้องกันภัยพิบัติ เพราะในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เคยเกิดดินถล่มครั้งใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อน

โครงการลดถุงพลาสติกเลมอนฟาร์ม นำเงินค่าลดถุงพลาสติกที่ลูกค้าร่วมกันทำมาจัดหาปัจจัยการผลิต ต้นกล้าสับปะรด ช่วยชาวบ้านเพิ่มพื้นที่อินทรีย์ ปัจจุบันชาวบ้านลงต้นกล้าสับปะรด 15,000 ต้น มะม่วงหิมพานต์ เพื่อให้มีรายได้ทดแทนข้าวโพดเคมี และจะฟื้นฟูป่าไม้มุ่งสู่วนเกษตรอินทรีย์ต่อไป…”

ทองแดง เศษนาเวช กลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS น้ำไผ่ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

“คำว่าเกษตรอินทรีย์ สำหรับหนูมีความหมายที่ยิ่งใหญ่มาก มันมีความหมายถึงศรัทธาพลังศรัทธาที่ทำทุกอย่างให้คืนกลับมาที่ตำบลน้ำไผ่ คือ สุขภาพที่ดีขึ้น ทำให้เรามั่งคั่งยั่งยืนและได้พื้นที่ทำกินจากอุทยานสักใหญ่”

 

<< Back