ถั่วเหลืองอินทรีย์
โอกาสและความหวังในการฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำ และการสร้างวิถีการเลี้ยงชีพยั่งยืน
ของชุมชนบ้านงิ้วเฒ่า บ้านผาวี อ.พาน จ.เชียงราย

ถั่วเหลืองเกษตรอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน Non-GMOs จากชุมชนบ้านงิ้วเฒ่า บ้านผาวี อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ปลูกบนพื้นที่สูงกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในพื้นที่ต้นแบบวนเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างการเลี้ยงชีพในชุมชนอย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงราย เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเคมี แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าและอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่านต้นน้ำที่เสื่อมโทรม ภายใต้ความร่วมมือของเลมอนฟาร์ม มูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย วนอุทยานแห่งชาติดอยหลวงและชุมชน

ประวัติความเป็นมาของชุมชน

บ้านงิ้วเฒ่า บ้านผาวี เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีประชากร 415 หลังคาเรือน ชุมชนได้อพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่กว่า 100 ปีมาแล้ว สภาพพื้นที่เดิมเป็นป่าต้นน้ำ จุดกำเนิดของแม่น้ำวัง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สายที่รวมมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในภายหลังรัฐได้ประกาศเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติดอยหลวง

ผู้เฒ่าในชุมชนเล่าความเป็นมาว่า ด้วยเหตุที่หมู่บ้านตั้งอยู่ลึกในพื้นที่ป่า จึงไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อร้อยปีก่อน ชาวบ้านประกอบอาชีพหลักโดยการลักลอบตัดไม้ขาย เมื่อป่าลดน้อยลงก็เข้าสู่ยุคการลักลอบปลูกฝิ่น ต่อมาเมื่อทางการกวดขันห้ามยาเสพติด ชาวบ้านก็หันมาต้มเหล้าเถื่อนขาย และสุดท้ายมีอาชีพปลูกข้าวโพดเคมีเป็นรายได้หลัก โดยมีนายทุนนำเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาเคมีมาให้ถึงหมู่บ้านและรับซื้อผลผลิต

เกษตรเคมีกับความยากจน หนี้สินและปัญหาสิ่งแวดล้อม

จากการสัมภาษณ์เกษตรกรแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเคมีประมาณบ้านละ 30-100 ไร่ แต่เมื่อหักค่าปุ๋ย ค่ายาแล้ว เหลือรายได้ประมาณ 20,000-60,000บาท/ปี ขึ้นอยู่กับราคารับซื้อของพ่อค้าในแต่ละปี ทำให้ชาวบ้านแต่ละครอบครัวมีฐานะยากจนและมีหนี้สินที่กู้ยืมเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และส่งให้ลูกไปเรียนหนังสือในตัวเมือง คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านส่วนใหญ่เกือบ 90% ต่างอพยพไปทำงานรับจ้างในเมือง เหลือแต่ผู้สูงอายุและเด็กในหมู่บ้าน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชุมชนเริ่มประสบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการปลูกข้าวโพดเคมีมายาวนาน ได้แก่ ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เกิดรุนแรงที่สุดใน จ.เชียงราย ปัญหาป่าเสื่อมโทรมและภัยแล้ง แม่น้ำวังที่เคยเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชนแห้งสนิทในช่วงฤดูร้อน หมู่บ้านงิ้วเฒ่าประสบปัญหาขาดแคลนน้ำหลายเดือนต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ และปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนที่เจ็บป่วยเรื้อรังจากสารเคมี

พลิกผืนดิน เลิกสารเคมี ทำเกษตรอินทรีย์สู่วิถียั่งยืน

ในเดือน พฤศจิกายน 2563 ภาคีเครือข่าย นำโดย มูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ เกษตรจังหวัดเชียงราย วนอุทยานแห่งชาติดอยหลวงและเลมอนฟาร์ม ได้ร่วมมือกันทำโครงการพื้นที่ต้นแบบเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าและอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม โดยร่วมกับชุมชนทั้ง 2 หมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตมาสู่วิถีวนเกษตรอินทรีย์ ลดพื้นที่การทำพืชเชิงเดี่ยว ไม่บุกรุกป่าและไม่เผา ส่งเสริมการปลูกพืชยืนต้น มะม่วงหิมพานต์ กล้วย ชา กาแฟ รูปแบบพืชผสมผสานกับพืชพื้นถิ่น ได้แก่ ใบชา ใบเมี่ยง ส่วนในพื้นที่ราบได้รวบรวมสมาชิกชุมชนก่อตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS วางแผนการส่งเสริมการผลิตพืชอินทรีย์ หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี เช่น ข้าว ถั่วเหลือง งา เพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหารในชุมชนและมีรายได้เสริม โดยเชื่อมโยงตลาดกับเลมอนฟาร์ม วางแผนการผลิตกับตลาดด้วยราคาที่เป็นธรรม

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เลมอนฟาร์มลงพื้นที่ร่วมส่งเสริม อบรมกระบวนการมาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS อบรมกระบวนการรับรองมาตรฐาน กระบวนการตรวจแปลงโดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เลมอนฟาร์ม ให้คำแนะนำแนวทางการปฎิบัติ การปรับปรุงแก้ไขแปลงและรับสมัครสมาชิก มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2 ชุมชน 75 ราย พื้นที่ 720 ไร่ นับเป็นการเริ่มต้นบุกเบิกเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืนในหมู่บ้านทั้ง 2 แห่งเป็นครั้งแรก

ผลผลิตแรกจากพื้นที่

ถั่วเหลืองอินทรียืระยะปรับเปลี่ยน เป็นพืชชนิดแรกในปีแรกของโครงการนำมาให้ชุมชนทดลองปลูกหลังฤดูกาลทำนาในปีแรก ด้วยกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ คัดเมล็ดพันธุ์ Non-GMOs โดยเกษตรกรได้รับความรู้จาก อ.เพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ ผู้เชี่ยวชาญการปลูกถั่ว มูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์

ปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ผลิตด้วยความพิถีพิถันตั้งแต่การปลูก ไม่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ปลูกด้วยมือทีละหลุมและมีการใช้ปัจจัยการผลิตภายใต้มารฐานเกษตรอินทรีย์รับรอง ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูป และน้ำหมักออร์โมนพืชอินทรีย์ ที่นำมาใช้ใจกระบวนการผลิต

 
ดร.เพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ และ อ.สุภาชัย เตชะนันท์ มูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ ลงพื้นที่ให้ความรู้การปลูกถั่วเหลือง แก่เกษตรกร

แปลงถั่วเหลืองระยะปรับเปลี่ยนบ้านผาวี

 

ดร.เล้ง ลงพื้นที่ร่วมกับทีมส่งเสริมเลมอนฟาร์ม ตรวจวัดคุณภาพน้ำในพื้นที่ พบว่าไม่มีสารตกค้างของสารเคมี

 

ผลผลิตถั่วเหลืองระยะเก็บเกี่ยว ชาวบ้านรวมลงแรงช่วยเหลือผลักเปลี่ยนกันในชุมชน

 

ด้วยสภาพอากาศที่บริสุทธิ์ของพื้นที่ ทำให่ถั่วเหลือของบ้านงิ้วเฒ่า บ้านผาวี มีรสชาติที่หอม หวาน มัน อร่อยกว่าพื้นที่อื่นๆเหมาะแก่หารนำไปทำเป็นน้ำเต้าหู้ รสชาติดี

          

ผลผลิตถั่วเหลืองอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนจากบ้านงิ้วเฒ่า บ้านผาวี มีจำนวนไม่มากในปีแรก แต่มาจากความทุ่มเทและมุ่งมั่นเรียนรู้ของชาวบ้านที่มุ่งหวังจะให้เกิดวิถีการผลิต การเลี้ยงชีพที่ยั่งยืนของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ช่วยสร้างรายได้การเลี้ยงชีพให้แก่กลุ่มเกษตรกร ส่งมอบอนาคตและส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลาน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถรักษาป่าต้นน้ำและแม่น้ำวังให้คงอยู่อย่างยั่งยืนหล่อเลี้ยงคนไทยสืบไป…