เรื่องราวจากผักอินทรีย์ สวิสชาร์ด และเคล จากสวนของนันทา

” ความสุขบนผืนดิน..
ให้คนที่เราไม่รู้จักได้กินของดี “

     ทีมส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ มีโอกาสไปเยี่ยมแปลงผักอินทรีย์ ของ นันทา สายชมพู สมาชิกกลุ่ม PGS น่าน  เธอได้เล่าเรื่องราวการเรียนรู้ และการทำงานที่มีความสุขบนผืนดินที่นา 3 ไร่ ซึ่งกลายมาเป็นสวนผักอินทรีย์เกษตรผสมผสานภายใต้กลุ่ม PGS น่าน เครือข่าย Lemon Farm Organic PGS  และเป็นหนึ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ จ.น่าน

 

3 ปี แห่งการเรียนรู้การทำสวนผักอินทรีย์ บนพื้นที่นา 3 ไร่ มรดกของพ่อ

     ครั้งแรกก็ไม่คิดว่าจะได้ส่งขายสักนิดเลยค่ะ  หนูคิดว่าอยากจะกลับบ้านมาดูแลแม่  และที่สำคัญคือเรื่องสุขภาพ ก่อนนี้หนูไปทำงานที่สัตหีบ ระยองเป็นสิบปี ซึ่งแถบนั้นสารเคมีเยอะมาก พอกลับมาน่านก็มาทำสวน ทีแรกก็ทำคนเดียว เวลาหนูทำสวนรู้สึกเรามีความสุข

     ทำสวนผักอินทรีย์ยากไหม..ไม่ยาก เหนื่อยไหม..เหนื่อย แต่มันมีความสุข วันนี้เหนื่อย พอพรุ่งนี้เราเห็นสิ่งที่เราทำขึ้นมามันมีพลัง เธอเล่าพร้อมรอยยิ้มที่สดใสอย่างไร่ที่หนูปลูกนี้ แม่ของหนูเป็นเก๊าท์กินได้ ปกติคนเป็นเก๊าท์จะกินหน่อไม้ไม่ได้ แต่สายพันธุ์ที่เราปลูกเขาตรวจสอบแล้วไม่มียูริคไซยาไนท์  แม่กินก็ไม่ปวดไม่อะไรกินได้  

     การทำเกษตรอินทรีย์ เราต้องดูแลดิน ถ้าเราดูแลดินดี ดินจะดูแลพืช  หนูก็พยายามมาก ๆ  แรก ๆ ชาวบ้านมองหนูว่าเป็นคนบ้าที่ถมดินที่นาเอามาปลูกผัก หนูเหลือที่นาไว้แค่ ๒ ไร่ ทำข้าวเอาไว้แค่พอกิน ตรงนี้หนูก็จะทำผัก

     หนูอยากรู้ว่า คำว่า Organic มันคืออะไร  จับพลัดจับผลูก็มารู้จักกับน้องอู๋ โอ๋ สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ PGS น่าน เครือข่าย Lemon Farm PGS ก็ชวนมาเข้ากลุ่ม เราก็ได้ไปดู ไปเรียนรู้ว่าเขาปลูกอย่างไร

     พอเราทำมาได้ครบ 1 ปี ผ่านระยะปรับเปลี่ยนแล้ว ก็ทำโรงเรือนเองฤดูฝนเราจะได้มีผักส่งบ้าง  ได้พลาสติกคลุมมาจากโครงการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ของ จุฬาฯ  แล้วก็ทำโรงเรือนกันเอง ยืมอุปกรณ์เพื่อน ๆ มาทำ ก็มีเพื่อนๆ ในกลุ่ม มาช่วยทำด้วย

     เข้าสู่ปีที่ 3  นันทาและสามี ใช้พื้นที่เต็ม 3 ไร่ ปลูกผักนับสิบชนิดตลอดปี  ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ มีผลผลิตหน่อไม้อินทรีย์ ผักหวาน และอื่นๆ ไม่พอขายในตลาดชุมชน  และส่งผลผลิตมะเขือเทศท้อ เคล สวิสชาร์ต กวางตุ้งฮ่องเต้อินทรีย์ให้เลมอนฟาร์ม

 

สรุปบทเรียน 3 ปี ที่ฝ่าฟันอุปสรรค

     นันทาสรุปว่า ช่วงแรกรายได้มันยังไม่พอค่าใช้จ่าย  เราก็พยายามปรับตัว  มีสวนยางพาราเมื่อก่อนจ้างคนอื่นกรีด เดี๋ยวนี้เราก็ทำเอง 2 คน เริ่มทำงานกรีดยางกันตอนตี 3 แล้วช่วงเช้าก็มาทำงานที่สวนผักก็พออยู่ได้ ที่สำคัญคือ หนูจะไม่สร้างหนี้ รายได้หนูไม่มากเหมือนอยู่ที่ระยอง แต่เราก็จะไม่สร้างหนี้ เราก็พออยู่ได้

ในท่ามกลางสังคมที่ต้องการสิ่งต่างๆ มากมี  แต่นันทา ได้ค้นพบความสุขที่มีอยู่ในชีวิตและผืนดิน

     เมื่อก่อนมีเสื้อผ้าสวย ๆ เยอะมาก ขนกลับมาจากระยองเป็นรถบรรทุก ต้องใช้คำนี้จริงๆ  แต่พอเรามาทำเกษตรอินทรีย์ เราพบว่าชีวิตเราใช้เสื้อผ้าแค่ 3 ชุดก็พอแล้ว อย่างเสื้อตัวนี้ที่ใส่ทำสวนก็ชอบมาก เธอชี้ให้ดูเสื้อที่ใส่ที่มีรูปะขาดอยู่หลายแห่ง  พวกเสื้อผ้าสวยๆ ที่เคยหวง ตอนนี้ก็เอาไปบริจาคให้คนอื่นหมดแล้ว

“เรามีความสุขที่เราได้ทำของที่ปลอดสารจริงๆ ให้คนที่เราไม่รู้จักได้กินของดี”

     หรือถ้าใครสนใจอยากมาเรียนรู้ว่า วิชาปรับปรุงดินทำอย่างไร วิชาความรู้ที่เราเรียนรู้มาเราก็อยากแบ่งปัน การทำน้ำหมักสูตรโน้นนี้ ที่ช่วยบำรุงดิน เราก็แบ่งปันกันได้ อยากให้เขากลับไปทำให้เขาอยู่ได้  เพราะเราเห็นรุ่นน้อง ๆ หลายคนที่เขาอยากกลับมาบ้าน แล้วสุดท้ายเขาอยู่ไม่ได้เพราะไม่มีอะไรทำ ไม่มีงานในหมู่บ้าน ไปไม่รอดสุดท้ายเขาก็ต้องกลับไปกรุงเทพ เป็นวงจรเดิมๆ ที่เขาไม่มีความสุข เราก็อยากเป็นกำลังใจให้เขา

     ตอนนี้นันทาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ สมาชิกใหม่ในกลุ่มที่เพิ่งกลับมาทำสวนเหมือนกัน  “น้องนิ่ม” ที่ดินเป็นเขาเป็นดินลูกรังแข็งโป๊ก แต่เขามีความตั้งใจมาก วันพุธที่จะถึงนี้เขาจะส่งผักไปเลมอนฟาร์ม ๒ อย่าง ตั้งแต่เข้ากลุ่มมาเขายังไม่เคยส่งเลย เขาคงจะภูมิใจมากที่ได้มีผลผลิตส่งไป เธอยิ้มอย่างมีความสุข

  

     ผลผลิตผักอินทรีย์แต่ละถุงที่ปลูกจากสมาชิกเกษตรกรรายย่อยเลมอนฟาร์ม มีเรื่องราว ความตั้งใจของเกษตรกร ที่พากเพียรส่งมอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม  เช่นเดียวกับ สวิสชาร์ต เคลอินทรีย์ ของนันทา ที่ส่งมอบสุขภาพ และความสุขให้เราไปพร้อมกับมื้ออาหาร

Lemon Farm Organic ทีม Organic & Sustainable